วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พูดดีเข้าใจง่าย พูดร้ายเข้าใจยาก


       วันนี้ได้มีโอกาสนั่งอ่านเอกสารเวียงพิงค์ ซึ่งเป็นวารสารของเทศบาลนครเชียงใหม่ ฉบับที่ ๑๘๑ ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗ ในเนื้อหาก็จะเป็นเรื่องการปฏิบัติงานของผู้บริหารเทศบาลที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ในด้านต่าง ๆ เปิดมาเรื่อย ๆ จนถึงหน้าเกือบท้ายสุดเจอคอลัมน์ที่ชื่อว่า ธรรมะเวียงพิงค์ หลักธรรมในการดำรงชีวิต ในหัวข้อ " พูดดีเข้าใจง่าย พูดร้ายเข้าใจยาก " ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ซึ่งหลวงพ่อได้สอนไว้ดีมากในฐานะที่เราก็เป็นพ่อคนนึง อ่านแล้วรู้สึกได้เลยว่าที่หลวงพ่อท่านสอนล้วนเป็นสิ่งสำคัญ และมีประโยชน์มากกับการสอนลูกของเรา หรือแม้กระทั่งการทำงานผมว่าก็สามารถใช้ได้นะ เพราะธรรมะที่หลวพ่อสอนเกี่ยวข้องกับการระงับความโกรธ และรู้ว่าอะไรควรพูดตอนไหน เห็นว่าดีครับก็เลยนำมาบอกต่อครับผม

        คนทีฉลาดแล้ว สอนไม่มากหรอก  ถ้าคนไม่ฉลาด  สอนมากแค่ไหน ... ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันเกี่ยวกับคนสอนด้วยนะ

        โดยมาก... คนเราเวลาไม่สบายใจ จึงสอนลูกเรา เราโกรธแล้วจึงสอน มันก็ด่ากันเท่านั้นหล่ะ ไม่ยอมสอนกันดี ๆ หรอก ก็คนใจไม่ดี ไปสอนกันทำไม " อาตมาว่า อย่าไปสอนในเวลานั้น ให้ใจมันสบายก่อน มันจะผิดอย่างไรก็เอาไว้ก่อน ให้มันใจดี ๆ ซะก่อน "

        นี่โยมจำไว้นะ อาตมาสังเกตโยมสอนลูกแต่เวลาโมโหเท่านั้นละ มันก็เจ็บใจละซิ เอาของไม่ดีให้เขา เขาจะเอาทำไม ตัวเราก็เป็นทุกข์  ลูกเราก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นอย่างนี้

        " คนเรามันชอบดี ๆ ทั้งนั้นละ แต่ความดีเราไม่พอ ให้ความดีมันไม่เป็นเวลา ไม่รู้จักบทบาท ไม่รู้จักกาลเวลา มันก็เป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น "

        อาหารที่มันอร่อย เราต้องทานทางปาก มันจะเกิดประโยชน์  ลองเอาเข้าทางหูซิ มันจะเกิดประโยชน์ไหม อาหารอร่อย ๆ จะมีประโยชน์ไหม คนเรามันมีประตูเหมือนกันละ ต้องเข้าหาประตู ทุกคนก็เป็นอย่างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น